การออกแบบและปกป้องแบรนด์ด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า / บริการ
จากการที่เราได้เล็งเห็นปัญหาในกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ นักสร้างแบรนด์ และนักออกแบบ
ว่าชื่อสินค้า/บริการ โลโก้ หรือ เครื่องหมาย ที่ได้สร้างขึ้นมานั้นไม่มีความบ่งเฉพาะที่เพียงพอ ขัดต่อ พรบ. เครื่องหมายการค้า หรือกระทั่งไปละเมิดเครื่องหมายการค้า/บริการ ของผู้อื่นที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วอย่างไม่ตั้งใจ เราจึงคิดค้นนวัตกรรมการให้บริการรูปแบบใหม่ที่ครอบคลุมถึงการออกแบบและการยื่นจดเครื่องหมายการค้ารวมไปถึงการจดแจ้งลิขสิทธิ์ ซึ่งจะทำให้ทุกๆ งานออกแบบที่เราสร้างสรรค์ให้คุณนั้นได้รับความคุ้มครองด้วยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างถูกต้องและปลอดภัย
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว สามารถคุ้มครองชื่อ ตรา สัญลักษณ์ โลโก้ รูปภาพ รูปถ่าย และแบบต่างๆ และช่วยให้เจ้าของเครื่องหมายสามารถสร้างความโดดเด่นและแตกต่างให้กับสินค้าหรือบริการของตน เครื่องหมายช่วยให้กลุ่มลูกค้าเข้าใจได้ถูกต้องว่าสินค้าหรือบริการนั้นมาจากแหล่งไหน มีคุณภาพและเชื่อถือได้หรือไม่ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์ เจ้าของธุรกิจ นักออกแบบกราฟฟิก ฝ่ายขายหรือฝ่ายการตลาด การปกป้องเครื่องหมายสามารถทำให้คุณดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นใจและสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภาพประกอบ
“เครื่องหมาย” สามารถอยู่ในรูปแบบของคำ แบบ 2-D และ 3-D คำสโลแกน เสียง หรือสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เครื่องหมายแบ่งกลุ่มได้เป็น 4 ลักษณะ
เครื่องหมายการค้า เป็นเครื่องหมายที่บ่งชี้ถึงผลิตภัณฑ์
ตัวอย่างเช่น NIKE RED BULL หรือ Coca-Cola
เครื่องหมายการบริการ เป็นเครื่องหมายที่บ่งชี้ถึงธุรกิจบริการ
ตัวอย่างเช่น FedEx Hilton และ Kasikorn Bank
เครื่องหมายรับรอง เป็นเครื่องหมายที่ได้รับการตรารับรอง
ว่ามีลักษณะจำเพาะที่เข้าเกณฑ์มาตรฐาน
ตัวอย่างเช่น ตรามาตรฐานของ Halal ISO หรือ FDA เป็นต้น
เครื่องหมายกลุ่ม เป็นเครื่องหมายที่นำมาใช้เพื่อบ่งบอกการรวมกลุ่มกันของธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น Siam Cement Group (SCG) หรือ กลุ่ม Charoen Pokphand (CP)
เครื่องหมายเป็นทรัพย์สินทางปัญญา
ชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงมาก เนื่องจากแบรนด์ดังอาจมีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลล่า ถึงแม้เมื่อเทียบกับสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ (no-brand) แล้วอาจจะไม่ได้มีอะไรที่พิเศษกว่าหรือประกอบด้วยวัตถุดิบหรือสิ่งที่มีมูลค่าที่สูงกว่าแต่อย่างใดเลย
ก่อนการยื่นจดเครื่องหมายการค้า คุณต้องทำการสืบค้นให้แน่ใจก่อนว่าเครื่องหมายของคุณนั้นไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว นอกเหนือจากนี้ เครื่องหมายที่สามารถยื่นจดทะเบียนได้นั้นต้องมีลักษณะดังนี้
มีความบ่งเฉพาะสูง โดดเด่นและแปลกตาเพียงพอที่จะทำให้ลูกค้าสามารถแยกแยะว่าเป็นสินค้าจากผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง ความบ่งเฉพาะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างเครื่องหมายที่โดดเด่น บ่อยครั้งก็จะประกอบด้วยคำประดิษฐ์ ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีความหมายและมีเสียงที่ไม่เหมือนใคร ตัวอย่างเช่น โพลารอยด์ กูเกิ้ล หรือเอ๊กซอน เครื่องหมายที่บ่งชี้ถึงคุณลักษณะหรือบรรยายถึงตัวสินค้าหรือบริการโดยตรงจะไม่เหมาะสมสำหรับการยื่นจดเครื่องหมายการค้า ชื่อบุคคลหรือชื่อสกุลที่มีความบ่งเฉพาะสูง เป็นชื่อหายาก ก็สามารถนำมายื่นจดทะเบียนการค้าได้ ตัวอย่างเช่น Pierre Cardin
เป็นเครื่องหมายที่ถูกใช้เป็นเวลายาวนานและได้รับการยอมรับจากผู้ใช้โดยทั่วไป (Secondary Meaning Rule) หากเป็นเครื่องหมายที่ถูกนำมาใช้ในการให้บริการหรือขายสินค้ามาเป็นเวลายาวนาน ผู้ยื่นจดทะเบียนจำเป็นต้องแนบหลักฐานการใช้เครื่องหมายดังกล่าวในการทำการตลาด เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าเครื่องหมายนี้ได้รับการยอมรับในกลุ่มลูกค้าแล้ว
ต้องไม่มีลักษณะที่ต้องห้าม ตามมาตรา 8 แห่งกฏหมายเครื่องหมายการค้าไทย เครื่องหมายราชการ หรือลายธงชาติหรือสัญญลักษณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับศาสนาไม่สามารถนำมายื่นจดขึ้นทะเบียนการค้าได้
สิทธิประโยชน์ของการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ได้รับการคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายทั่วประเทศ
เป็นการประกาศโฆษณาว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ
ใช้เครื่องหมาย (R) เพื่อบ่งบอกว่าเครื่องหมายนี้ได้รับการจดทะเบียนตามกฏหมายแล้ว
ได้รับการคุ้มครองถึง 10 ปี ซึ่งสามารถต่ออายุทุกๆ 10 ปี โดยการยื่นคำรองต่ออายุภายใน 90 วันก่อนวันหมดอายุ
ปกป้องสิทธิในการทำตลาดด้วยเครื่องหมาย
เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการใช้เครื่องหมาย โดยการให้เช่าสิทธิ์หรือการสร้างแฟรนไชส์
เพิ่มเติม
สามารถอ่านข้อปฏิบัติและขั้นตอนในการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในราชอาณาจักรไทยได้ที่
เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา
สำหรับการยื่นจดเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ สามารถยื่นจดฯ ผ่านระบบ International trademark system หรือ Madrid Protocol หรือปรึกษาโดยตรงได้ที่สำนักกฏหมายที่มีความเชี่ยวชาญในด้านทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศที่ต้องการจดทะเบียน
ปัจจุบัน (เดือนมกราคม 2557) ราชอาณาจักรไทยยังไม่ได้อยู่ในระบบ Madrid System ดังนั้นจึงจำเป็นหากท่านต้องการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศที่ท่านต้องการทำการค้า คุณสามารถหา
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Madrid Protocol